Mashup.in.th

สัมภาษณ์พิเศษ “มิ้ง พิรดา เตชะวิจิตร์” หญิงไทยคนแรกที่จะได้เดินทางไปอวกาศ

ในปี ค.ศ.1969 นีล อาร์มสตรอง เคยกล่าว Motto ที่กินใจคนทั้งโลกมาแล้วเมื่อ เขาสามารถนำยานอวกาศอพอลโล่ 11 ลงจอดบนดวงจันทร์ได้สำเร็จเป็นคนแรก ว่า “That’s one small step for man, one giant leap for mankind.” มาถึงวันนี้ หากจะมีคนไทยสักคน ที่จะได้ออกไปอวกาศ

ก็คงไม่ต่างจากการก้าวกระโดดของไทยเราเช่นกัน คงไม่ผิดหากผู้เขียนอยากจะใช้  Motto ที่ว่า “That’s one small step for a girl, one giant leap for Thai!” กับเธอคนนี้ มิ้ง พิรดา เตชะวิจิตร์. วันนี้เราจะมารู้จักเธอกันครับ

มิ้ง พิรดา เตชะวิจิตร์ และตัวแทนประเทศไทยทั้ง 2 คนขณะเข้าร่วมฝึกฝนกับนักบินหมู่บินผาดแผลงของกองทัพอากาศไทย (Blue Phoenix) เพื่อฝึกฝนร่างกายให้เตรียมพร้อมต่อการรับกับแรงจี (G-Force)

ผู้เขียนเองเป็นอีกคนที่รักเรื่องการเดินทางอวกาศและเทคโนโลยีมาเป็นเวลานาน หากพูดถึงบทบาทของการท่องอวกาศของไทยนั้น เรียกได้ว่าเป็นฝันเลยทีเดียวแต่แล้ววันหนึ่งเหมือนไม่กี่เดือนที่ผ่าน ผู้เขียนเองได้อ่านข่าวเกี่ยวกับ “นักบินอวกาศคนแรกของไทย” ตั้งแต่อ่านหัวข้อข่าว ผู้เขียนก็รู้สึกตื่นเต้นดีใจไประดับหนึ่งแลัว หลังจากที่ได้รู้ว่านักบินคนนั้นเป็นผู้หญิงตัวเล็กๆที่ชื่อว่า มิ้ง พิรดา เตชะวิจิตร์ ก็ยิ่งทำให้ผู้เขียน รู้สึกตกใจมากขึ้นไปอีก เนื่องจากเป็นบุคคลที่ผู้เขียนรู้จักเป็นการส่วนตัวเช่นกัน ดังนั้น วันนี้จึงขอสัมภาษณ์ นักบินอวกาศหญิงคนแรกของไทย ในรูปแบบของเว็บ Mashup.in.th แล้วกันครับที่คุณหาไม่ได้จากที่อื่น

ข้อมูลทั่วไปของ มิ้ง – พิรดา เตชะวิจิตร์

ชื่อ:  นางสาวพิรดา เตชะวิจิตร์
อายุ: 29 ปี
การศึกษา
● วิศวกรรมคอมพิวเตอร์ จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
● ได้ทุนศึกษาต่อระดับปริญญาโท ด้านดาวเทียมที่สถาบัน ISAE ประเทศฝรั่งเศส
ปัจจุบัน
● ทำงานเป็นวิศวกรดาวเทียม สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISTDA)
● สุดยอดแฟนพันธุ์แท้อะพอลโล

ข้อมูลคร่าวๆของการเดินทางไปอวกาศ(ขอบคุณข้อมูลส่วนนี้จาก Posttoday อ่านต่อได้ที่ : http://bit.ly/19ZYGD6)

วินาทีที่คณะกรรมการประกาศชื่อวิศวกรอวกาศจากประเทศไทยได้รับคัดเลือก เธอรู้สึกช็อก แทบร้องไห้ออกมา และวิ่งขึ้นไปกอดผู้มอบเซอร์ติฟิเคตคล้ายตั๋วเครื่องบินไปท่องอวกาศ

สำหรับไฟลต์ขึ้นสู่อวกาศสำหรับผู้ชนะ แอ็กซ์จับมือกับสเปซ เอ็กซ์เพอดิชั่น คอร์เปอเรชั่น (SXC) บริษัทผู้จัดจำหน่ายไฟลต์ที่นั่งขึ้นสู่อวกาศ โดยแอ็กซ์ได้จองที่นั่งบนยานบินสู่อวกาศไว้ทั้งหมด 23 ที่นั่ง สำหรับแคมเปญนี้โดยเฉพาะ

“ตอนนี้เราก็อัพเดทกันตลอดเวลาว่าจะเริ่มบินกันเมื่อไหร่ แต่ตอนนี้ไฟลต์ยังไม่คอนเฟิร์ม 100% เพราะตั๋วเต็มมาก เร็วที่สุดคือธันวาปีนี้ เพราะใครที่มีเงิน 7 ล้านบาท และต้องผ่านการทดสอบเพื่อบินสู่อวกาศ ตั๋ว 3 ล้านบท แต่การทดสอบอีก 4 ล้านบาท นับว่าเราโชคดีมากๆ”

ประสบการณ์ที่ พิรดา คาดว่าจะได้เมื่อไปท่องอวกาศ คือ เธอจะได้เห็นโลกจากอวกาศ และจะทำการทดลองบางชนิดเพื่อให้ได้ประโยชน์จากการไปในครั้งนี้

3 คนไทยในสเปซแคมป์

“คาดว่าเดือน ธ.ค. เราทั้ง 23 คนน่าจะได้ไปท่องอวกาศ เพราะตั๋วปัจจุบันเต็มมากๆ แต่ตารางคร่าวๆ คือ ไปขึ้นเครื่องบิน ลิงค์ มาร์ค ทู เครื่องบินเจ็ตลำเล็กที่ถูกออกแบบขึ้นมาเพื่อพาคนไปท่องอวกาศ เพราะขณะลงเครื่องบินจะเสียดสีกับชั้นบรรยากาศมาก เครื่องบินต้องออกแบบขึ้นไปแล้วต้องบินลงมาได้ กระจกกว้าง ทำให้เราเห็นวิวได้กว้าง เราจะไปขึ้นเครื่องกันที่อเมริกา ที่โมฮาเวย์ แคลิฟอร์เนีย การเตรียมตัวไปท่องอวกาศ คือ เราจะขึ้นไปเหนืออวกาศที่ความสูงจากพื้นดินกว่า 103 กิโลเมตร เสื้อผ้าที่จะใส่คือจัมพ์สูทป้องกันแรงกระแทก แม้เราจะไม่ได้ออกไปในอวกาศ แต่ก็รู้สึกตื่นเต้น เวลาบินจริงๆ จะมีเพียงเราและนักบินเพียง 2 คนเท่านั้น ตอนที่มิ้งอยู่ในอวกาศมีคุณหมอชาวอเมริกาอยากให้มิ้งทดลองเรื่องเมื่อมนุษย์ไปอยู่ในอวกาศอุณหภูมิของร่างกาย หรือสภาวะเลือด การเต้นหัวใจจะเป็นอย่างไร ซึ่งเครื่องมือที่ติดตัวมิ้งไปมีขนาดเล็กนิดเดียว ถือเป็นการไปที่คุ้มค่า ขึ้นไปอยู่ในอวกาศเพียง 1 ชั่วโมง ก็นับว่าคุ้มค่ามากๆ ได้เห็นเปลือกโลกด้วยตาตัวเอง ซึ่งการเตรียมตัวเตรียมใจไม่ต้อง แต่ต้องรักษาร่างกายให้แข็งแรง ออกกำลังกายสม่ำเสมอส่วนจิตใจต้องดูแลอย่าทำให้จิตใจเกิดความกดดัน ไม่เครียด โยคะช่วยเรื่องการหายใจ และมีใจที่สู้”หญิงไทยที่ได้ไปท่องอวกาศเป็นคนแรกกล่าว

SXCใช้เครื่องบินพาคนไปท่องอวกาศ คือลิงค์ มาร์ค ทู ซึ่งจะนำพานักบิน 1 คน และผู้โดยสาร 1 คน ทะยานขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศโลก ด้วยความเร็ว 3,552 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งจะใช้เวลาแค่ 3 นาทีครึ่งเท่านั้น ยานลำนี้ก็จะขึ้นมาอยู่ที่บริเวณ 103 กิโลเมตรเหนือระดับน้ำทะเล ในความสูง 103 กิโลเมตรจากพื้นโลก ผู้โดยสารจะได้สัมผัสกับภาวะไร้แรงโน้มถ่วง โดยนักบินจะดับเครื่องยนต์ และให้เวลาราว 6 นาที เพื่อให้ผู้โดยสารได้ถ่ายรูปและจดจำกับประสบการณ์อันล้ำค่านี้ ก่อนที่จะพากลับมายังพื้นโลก ซึ่งในช่วงขากลับนั้น ยานลำนี้ต้องใช้แรงขับมากกว่าแรงโน้มถ่วงของโลกถึง 4 เท่า ก่อนที่จะแล่นลงจอดเหมือนกับเครื่องบินทั่วไป สิ้นสุดภารกิจท่องอวกาศที่ใช้เวลารวมทั้งสิ้นตั้งแต่ก่อนออกเดินทางจนมาถึงพื้นโลก 60 นาที สนนราคาค่าตั๋วเครื่องบินราว 3 ล้านบาท ส่วนค่าทดสอบความแข็งแกร่งของร่างกายอีก 4 ล้านบาท

มิ้ง พิรดา เตชะวิจิตร์ ขณะเตรียมความพร้อมกับกองทัพอากาศไทย


เริ่มบทสัมภาษณ์โดย Mashup.in.th

“อยากให้เล่าที่มาที่ไปของการขึ้นไปนอกอวกาศครั้งนี้”

การไปอวกาศครั้งนี้ค่อนข้างพิเศษมากค่ะ ปกติการส่งคนไปอวกาศในแต่ละประเทศโดยเฉพาะคนแรก มักมาจากการที่รัฐบาลให้การสนับสนุน คัดเลือกคนในประเทศตนเอง และลงทุนมหาศาล เหตุผลก็เพียงเพื่อสร้างไอดอลทางวิทยาศาสตร์

การที่มิ้งได้มีโอกาสเดินทางในครั้งนี้เป็นโครงการจากเอกชน คือบริษัท unilever ในโครงการที่ชื่อ Axe apollo (คิดว่าหลายคนคงเคยเห็นโฆษณาอยู่บ่อยๆช่วงปลายปีที่แล้ว -MASHUP) ซึ่งเป็นโครงการที่จัดขึ้นทั่วโลกภายใต้สโลแกน leave a man, come back a hero. ก็คือการจะค้นหา hero โดยการให้เป็นนักบินอวกาศ และในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาประเทศไทยไม่เคยมีใครไปอวกาศ ยิ่งทำให้การเดินทางครั้งนี้พิเศษกว่าเดิม

โครงการนี้เปิดตัวใน 62 ประเทศทั่วโลก คัดเลือกจากคนสนใจเป็นล้านเหลือเพียง 107 คนที่มาเข้าแคมป์อวกาศ หรือที่เรียกว่า space camp ที่ รัฐ florida  ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยทั้งค่ายผู้ที่ผ่านการคัดเลือกเข้ามามีผู้หญิงเพียง 4 คนเท่านั้น

การคัดเลือกดำเนินโดยการจัดกิจกรรมให้ทำภายในค่าย ซึ่งเป็นกิจกรรมเดียวกันกับการใช้ฝึกนักบินอวกาศของนาซ่า เพื่อคัดเลือกคนที่มีคุณสมบัติเหมาะสมกับการเป็นนักบินอวกาศเพียง 23 คนเท่านั้น

สำหรับประเทศไทยได้มีผู้ได้รับการคัดเลือกไปทั้งหมดสามคน จากสามช่องทางเพื่อไปร่วมแคมป์ดังกล่าว ได้แก่ แฟนพันแท้อะพอลโล่, การจับฉลาก และการทำคลิปวีดีโอ สำหรับมิ้งนั้นได้ผ่านมาที่ช่องทางของแฟนพันธ์แท้ ที่เบื้องหลังนั้นต้องเตรียมตัวค่อนข้างมากทีเดียว สำหรับการคัดเลือก 23 คนนั้นอาจจะไม่มีคนไทยเลยก็เป็นได้ ดังนั่นการได้รับคัดเลือกในครั้งนี้ของมิ้งก็ถือว่าเป็นความสำเร็จของประเทศไทยเหมือนกันนะคะ

“ทราบวันที่กำหนดเดินทางแน่นอนแล้วหรือยัง”

ยังไม่ทราบแน่ชัดค่ะ เพราะเครื่องบิน Lynx mark ll ที่จะพาพวกเราไปยังอยู่ในการทดสอบอยู่ ซึ่งน่าจะเป็นปีหน้า

มิ้ง พิรดา เตชะวิจิตร์ ขณะทดสอบกับเครื่องฝึกยิงเก้าอี้ดีด (Ejection seat trainer)แบบเดียวกับที่ใช้ฝึกนักบินเครื่องบินรบ

“ระหว่างรอเดินทางมิ้งต้องมีการเตรียมตัวเดินทางอย่างไรบ้าง”

สำหรับมิ้งได้ผ่านการทดสอบพื้นฐานมาหมดแล้วสำหรับการเป็นนักบินอวกาศ ดังนั้นสำหรับการเตรียมตัวจนถึงวันที่จะบินก็คือ การเตรียมร่างกายให้แข็งแรง ออกกำลังกายสม่ำเสมอค่ะ

“บุคคลใกล้ตัว(รวมถึงคนรู้ใจ)มีความเห็นอย่างไรบ้าง กับการเดินทางไปอวกาศครั้งนี้”

สำหรับคนรู้ใจ ยังไม่มีนะคะ ยังคงตามหาต่อไป 555 สำหรับที่บ้านก็ไม่ขัดข้องนะคะ ตอนแรกยังคงกังวลอยู่บ้าง กลัวอันตรายที่จะเกิดขึ้นได้ แต่ตามที่มิ้งเล่าให้ฟังว่าเทคโนโลยีปัจจุบันพัฒนาไปเยอะแล้ว คุณพ่อคุณแม่ก็สบายใจขึ้นและสนับสนุนเต็มที่ เพราะเห็นว่าเราตั้งใจทำจริงๆ

มิ้ง พิรดา เตชะวิจิตร์ และตัวแทนประเทศไทยขณะเข้าค่ายสเปซแคมป์ที่ออร์แลนโด สหรัฐอเมริกา

“อะไรเป็นแรงบรรดาลใจให้อยากเดินทางไปอวกาศ”

สำหรับมิ้งแรงบันดาลใจน่าจะมาจากงานที่ทำอยู่เป็นหลัก เราได้ทำงานกับดาวเทียมและเรียนรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีอวกาศมากขึ้น ทำให้ยิ่งหลงรักเทคโนโลยีพวกนี้มากขึ้น โดยเฉพาะพวกโครงการที่ส่งคนไปอวกาศ

มิ้งเองก็มีโอกาสหลายครั้งที่ได้ไปเจอกับนักบินอวกาศในการประชุมวิชาการต่างประเทศหลายครั้ง เวลาเค้าเล่าให้ฟังถึงภาระกิจที่เค้าไปทำมาบนอวกาศ ก็รู้สึกว่ามันยิ่งใหญ่ และอยากจะมีโอกาสได้ทำอย่างนั้นบ้าง

“วางแผนไว้แล้วยังครับจะทำอะไรบ้าง ใน 6 นาทีที่ได้อยู่ในอวกาศ”

คิดแล้วว่าจะเอาอะไรไปบ้าง อยากเอาสัญลักษณ์ประเทศไทย ธงชาติ พระบรมฉายาลักษณ์ รวมถึงสัญลักษณ์ของที่ต่างๆ ที่ทำให้มิ้งมีทุกวันนี้ได้ และอยากเอาอาหารไทยขึ้นไป ถ้าเปนไปได้อยากเอาอุปกรณ์อะไรที่ทำการทดลองด้านการแพทย์ติดไปด้วย จะได้ทำประโยชน์ให้มากที่สุด

มิ้ง พิรดา เตชะวิจิตร์ และ Buzz Aldrin นักบินอวกาศในตำนาน ผู้เหยียบดวงจันทร์เป็นคนที่ 2

“อยากให้เล่าความรู้สึกขณะอยู่ในสภาวะไร้น้ำหนัก แบบคร่าวๆ”

เหมือนตกลงมา จากเครื่องเล่นอะไรสักอย่าง แต่ไม่น่าหวาดเสียวขนาดนั้น เราลอยได้คล้ายกับว่ายน้ำ แต่ว่ายอากาศไม่ได้ แรงผลักนิดหน่อยทำให้เรามีแรงผลักกลับไปอีกทิศอย่างแรง เล่าไม่ถูกเหมือนกันค่ะ เพราะไม่เคยรู้สึกแบบนั้นมาก่อน แต่รับรองว่ามันสนุกมาก อยากเล่นอีกหลายรอบเลยทีเดียว

“หลังจากการเดินทางไปนอกอวกาศครั้งนี้แล้ว มิ้งคิดว่าจะมีโอกาสได้ไปอวกาศอีกไหมครับ”

คิดว่ามีค่ะ ถ้าเรามีประสบการณ์แล้วอยากเป็นนักบินอวกาศจริงๆ ก็เป็นได้ เพียงแต่ว่ามิ้งอาจจะต้องเปลี่ยนสัญชาติไปเป็นอเมริกันแทน ซึ่งก็ไม่อยากจะทำแบบนั้น แต่ถ้าเค้ายื่นข้อเสนอให้ไปดาวอังคารมิ้งก็คงไปอยู่ดี 555 แม้ว่ามันจะเป็น one way ก็ตาม

อยากให้คำแนะนำน้องๆ หรือคนอื่นๆที่อยากจะเจริญรอยตาม

มิ้งอยากเป็นตัวอย่างถึงความพยายาม และทำความฝันให้สำเร็จ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไรก็ตาม ไม่จำเป็นต้องเป็นนักบินอวกาศอย่างเดียว ทำอะไรก็ตามเมื่อตัดสินใจแล้วก็ขอให้ทำด้วยความตั้งใจ โอกาสในชีวิตอาจมีเข้ามาไม่บ่อยนัก ถ้ามีแล้วขอให้ทำเต็มที่ มันอาจจะเป็นโอกาสที่อาจจะไม่ผ่านมาซ้ำสองก็เป็นได้

เวลามีปัญหา ให้โฟกัสที่เป้าหมาย ไม่ใช่อุปสรรค แล้วเป้าหมายมันจะใหญ่ ส่วนอุปสรรคมันจะเล็กลงไปเองค่ะ สู้ๆนะคะ

“ผู้เขียนได้ชมภาพยนตร์ เรื่อง Gravity มีโอกาสไหมที่มิ้งจะได้ทำงานเหมือนตัวเอกของเรื่องซึ่งเป็นผู้หญิงเหมือนกัน? และคิดว่าอยากจะทำไหมครับ?”

เปนเรื่องที่ชอบมากค่ะ แล้วก็อยากมีโอกาสทำแบบนั้นบ้าง แต่ก็อย่างที่บอกค่ะ การเป็นนักบินเต็มตัวอาจจะต้องเปลี่ยนสัญชาติ เพราะไทยเรายังไม่มีโครงการส่งนักบินอวกาศของเราเอง

 ขอบคุณสำหรับการตอบคำถามนะครับ ถือเป็นเกียรติอย่างสูงกับเว็บไซด์ของเรา 😀 ถ้าอย่างไรหาก ตอนอยู่ในอวกาศแล้วผ่านประเทศจีน อยากให้ลองดูว่าเห็นกำแพงเมืองจีนหรือไม่ด้วยครับ 😀

มิ้งก็อยากจะเห็นนะคะ แต่ฝั่งที่มิ้งขึ้นน่าจะเป็นที่ california สหรัฐ ซึ่งไม่น่าจะเห็นประเทศจีน แต่ไม่เปนไรค่ะ ยังไงจะถ่ายรูปกลับมาเต็มที่

บทสรุป

ผู้เขียนมองว่า การที่ มิ้ง พิรดา เตชะวิจิตร์ ได้เปิดฉากการเดินทางสู่อวกาศของไทย จะเป็นการนำพาประเทศไปสู่การพัฒนาด้านอวกาศรวมถึงด้านอื่นๆ อีกขั้นหนึ่ง จะเรียกว่าเป็นการก้าวกระโดดก็ไม่ผิด

ลองจินตนาการว่าต่อไปเธอจะกลายเป็นไอดอลของเด็กไทยอีกหลายคน(นอกจากเหล่าดาราเท่านั้น)
คิดต่อไปอีกว่าหลังจากนี้เป็นต้นไป เด็กไทยทุกคนจะต้องรู้จักเธอในนามของนักบินอวกาศคนแรกของไทย จากในหนังสือเรียน สื่อการสอนต่างๆ ทุกคนจะรู้สึกว่า “คนไทยออกไปอวกาศได้แล้ว” และอยากจะเดินตามรอยเท้าของมิ้ง ซึ่งจะกลายเป็นแรงบันดาลใจต่อไปในอนาคต

แต่…นี่เป็นแค่ก้าวแรกเท่านั้นครับ ยังมีอีกหลายสิ่งหลายอย่างที่สามารถพัฒนาได้ จากก้าวแรกที่ผู้หญิงตัวเล็กๆคนนี้ได้ก้าวเดิน ดั่งที่ขงจื้อได้กล่าวเอาไว้ว่า “ทางไกลนับหมื่นลี้ต้องมีก้าวแรกเสมอ”

สุดท้ายนี้ ต้องขอขอบคุณ คุณ มิ้ง พิรดา เตชะวิจิตร์ ที่ให้เกียรติมาสัมภาษณ์กับ Mashup.in.th ครับ
ผู้เขียนขอเป็นกำลังใจให้กับการเดินทางไปอวกาศครั้งนี้

ผู้เขียนหวังเป็นอย่างยิ่งว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์ หรือสร้างแรงจูงใจให้กับผู้อ่าน ไม่มากก็น้อย

ที่สำคัญที่สุด มิ้งได้พิสูจน์แล้วว่าคนไทยได้เดินทางไปอวกาศ ก่อนที่ บอลไทยจะไปบอลโลก เสียอีก!

ใครอยากติดตาม ความเคลื่อนไหว ของเธอสามารถเข้าไปกดไลท์ที่

Official Fanpage First Thai to Space! ของมิงค์ พิรดา เตชะวิจิตร์ 

และหากชื่นชอบบทความนี้ คุณผู้อ่านสามารถให้กด Like  และ Share เพื่อบอกต่อให้คนอื่นๆได้ทราบต่อไปได้ครับ และอย่าลืมดกด Like Fanpage Mashhup.in.th เพื่อติดตามบทความดีๆอื่นๆต่อไปในอนาคต

Exit mobile version